เรื่องสั้นเรื่อง "สวรรยา" ของคำสิงห์ ศรีนอก (ลาว คำหอม)


เรื่องสั้นชั้นครู : อ่านแล้วต้องตีความ

ผมมีเรื่องสั้นชั้นครูเรื่องหนึ่งที่อยากแนะนำให้ท่านอ่าน ผมได้อ่านเรื่องนี้มานานมากแต่ยังจำได้ดี เพราะเป็นเรื่องที่อาจารย์นำมาเป็นตัวอย่างในการวิจารณ์เรื่องสั้น อ่านแล้วก็ต้องขบคิดตีความ ตีความแล้วก็สนุกครับ เพราะคาดไม่ถึงว่า จะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากๆ ครับ

สวรรยา
( ลาว คำหอม )



ที่มา https://mocabangkok.com/th/project/
ภาคสวรรค์

ภายใต้เงาฟ้าเรืองรองวันหนึ่ง หลายชีวิตได้เปิดเปลือกตาขึ้น ณ ห้องหับสีทองที่อบอวลด้วยกลิ่นสุคนธรส

“นี่แน่ะ ท่านผู้เป็นน้องแห่งเรา”
ชีวิตแรกเอ่ยทักเมื่อปรากฏร่างน้อยๆ ของอีกชีวิตหนึ่งเคลื่อนมาตรงหน้า

“อะหา ใครกันที่มาเราว่บังอาจเรียกเราว่าน้อง”

ชีวิตสองสนองตอบ

“เรานะรึ”

“ก็จะยังมีผู้อื่นใดอีกเล่า”

“อ๋อ เราคือผู้เป็นเจ้าของแห่งภพนี้”

" ใครสอนถ้อยคำอันแสนจองหองนั้น แก่ท่าน ”

“ความจริง”

“คืออย่างไร”

“ก็มีอยู่ว่า เทพเจ้าส่งให้เรามาจุติ ณ รมณียสถานแห่งนี้”

“อือ ตลกดี”

เงียบลงชั่วขณะหนึ่ง

“ไหมล่ะ ท่านจำนน ต่อความจริงแล้ว ”

ชีวิตสองไม่ตอบ แต่เสียงที่สามหัวเราะแทรกขึ้น

“ฮะฮา...”

สิ้นเสียงที่สามก็มีเสียงที่สี่ - ห้า - หก - และถัดไป หัวเราะประดังก้อง

“นี่มันเรื่องอะไรกัน พวกท่านคือใคร”

ชีวิตแรกกล่าวด้วยน้ำเสียงขึ้งโกรธ

“พวกท่าน”

เสียงเยาะๆ ดังขึ้นอีกในกลุ่มผู้มาใหม่


“ผิดไปแล้ว ท่านน่าจะเปลี่ยนคำถามใหม่เป็นว่า พวกเรา ซีจึงจะควร ดูสิ จงมองดูตัวท่านแล้วเปรียบเทียบกับพวกเรา และหาความแตกต่าง”

คำทุ่มถียงเงียบลงอีก เหลือแต่เสียงสังคีตแว่วกระจายอยู่ในอากาศเบื้องบน

“พบแล้วยัง”

“ไม่พบ”

“ไม่เห็น”

“ไม่มี”

ดนตรีเสนาะดังชัดมากขึ้น ครู่เดียว ต่อมาทุกชีวิตก็ละจากการโต้เถียง ต่างแหงนหน้าขึ้นมองด้วยความระทึกใจ เมื่อปรากฏร่างสีเขียวแวววาวแหวกม่านฟ้าลงมาด้วยท่าทีองอาจ ติดตามด้วยเหล่าบริวารในแพรพรรณสวยสด ร่างนั้นค่อยลอยเลื่อนลงมา ที่สุดหยุดลงตรงหน้าแล้วเอ่ยปากถาม

“ผู้สืบผลบุญ พวกท่านส่งเสียงอื้ออึงคะนึง
ในยามนี้ ด้วยเหตุดังฤา ”

“เรามีปัญหามากหลาย”

ชีวิตแรกเสนอหน้า

“จงว่ามา”

“หะแรก ข้าพเจ้าเรียกท่านหนึ่งในพวกนี้ว่า น้อง ข้าพเจ้าได้รับความขุ่นเคืองจากเขา และเมื่อข้าพเจ้าแจ้งให้ทราบว่าเป็นเจ้าของแว่นแคว้นแดนนี้ด้วยเหตุมาถึงก่อน คำตอบของพวกเขาคือเสียงหัวเราะ ที่สุดตกลงกันไม่ได้ว่าพวกเราคือใคร...”


“นั่นปะไร ข้าคิดไว้เคยผิดเสียเมื่อไหร่”

ผู้ทรงศักดิ์พูดพลางถูมือไปมานิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่งแล้วจึงกล่าวสืบไป


“ขอพากันทราบเสียว่า ทุกท่านเป็นผู้สืบจากผลแห่งบุญ”


“คืออย่างไรท่าน”


เสียงถามด้วยอาการกระตือรือร้น


“ฟังให้จบก่อนซี - เอ้อ -คือท่านทั้งหลายมาสู่ทิพยสถานแห่งนี้ด้วยผลบุญ”


“ทิพยสถานคือ คืออย่างไร”


“อ้าว เราได้เตือนท่านแล้วว่าอย่าขัดจังหวะเมื่อกำลังพูด คืออย่างนี้ ที่นี่เป็นสรวงสวรรยาของผู้มากด้วยบุญ มีทุกสิ่งที่เป็นทิพย์”


“หมายความว่าพวกเราคือเทพ”


“นั่นสุดแท้แต่ท่านจะเข้าใจและเรียกตัวเอง”


“ฮา ตูคือเทพ เราคือเทพ”

เอ็ดอึงด้วยหรรษา


“ตัวท่านนั้นเล่าเป็นใคร”


เสียงเทพกระด้างขึ้น


“ใคร่รู้นักรึ”

“ใช่”
“อันที่จริงหากสังเกตสักเล็กน้อย ผิวกายอันเรืองรองของเราน่าจะบอกท่านได้ว่าเราเป็นใคร อ้อ ! พวกท่านเป็นผู้มาใหม่ ไม่เป็นไร เราจะบอกให้ เราคือองค์อินทร์ เป็นพระยาแห่งทิพยสถานเกษมสุขนี้ ”
“องค์อินทร์ โอ้ ขอได้โปรดแก่ความเบาปัญญาของพวกข้าพเจ้าด้วยเถิด ท่านผู้เป็นที่เคารพ ”

สิ้นสำเนียงทวยเทพ เหล่าบริวารแวดล้อมก็แซ่ขานและบรรเลงดนตรีทิพย์สืบต่อมาอีกชั่วครู่ เหล่าผู้มาใหม่ได้ออกปากวิงวอนให้ผู้เป็นพระยาเล่าถึงความเป็นไปในทิพยนครโดยสังเขป


“ภพนี้...” องค์อินทร์เริ่มกล่าวด้วยน้ำเสียงกังวาน “มีอายุขัยไล่เลี่ยเหลือประมาณกับอายุกาลแห่งโลกมนุษย์ ว่าถึงตำแหน่งแห่งที่ตั้งเล่า ถ้ากำหนดเอาแผ่นฟ้าเป็นจุดต้น ก็มีหนทางไกลกว่าจากแผ่นฟ้าถึงผิวโลก เพียงสองศอกถึงสองวาโดยประมาณ ทุกสิ่งแลลานเป็นสีทองดังท่านได้ประจักษ์อยู่บัดนี้ อนึ่งเนื่องด้วยเราอยู่ห่างออกมา ความแจ่มจ้าของอาทิตย์ก็มาติดอยู่แค่ผิวพื้นโลก แสงที่ตกถึงเราจึงบางเบาเป็นลำแสงสีรุ้งอ่อน เราไม่มีเวลาร้อน เช่นเดียวกับที่ไม่รู้จักหนาว ชีวิตมีแต่ความเบิกบาน เมื่อหิวก็จะมีอาหารอันเอมโอชลิ่วลอยลงมาจากนภากาศ จงเลือกอยู่ เลือกกิน สร้องเสพสำราญจนกว่าทุกท่านจะสิ้นบุญเถิด ”

สิ้นกระแสสั่ง เสียงเห่กล่อมประเลงเพลงก็ก้องกึก กังวานไกล หลายหมื่นโยชน์ เหล่าทวยเทพจึงทอดตัวลงฟอนฟาน ด้วยอาการสำราญในทิพยสถานนั่นแล

เมืองดิน


สายมากแล้ว ชายแก่เดินงุดๆ ออกจากคูหาน้อยปลายสวน มือถือกระป๋องเก่าๆ ซึ่งยังคลุ้งด้วยกลิ่นอับๆ ของยาพิษ แกพูดพึมพำ

“อ้ายฉิบหาย นับวันก็ยิ่งแต่มาก คราวนี้เห็นจะเกลี้ยงเสียที มีไอ้หัวเขียวลอดขึ้นมาได้ตัวเดียว” .......................
ที่มา GotoKnow โดย นายกรเพชร

Comments

Popular posts from this blog